การทำรีพีทเตอร์ด้วยเครื่อง Motorola รุ่น P200
[ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ]

อันนี้ผมทำไว้นานแล้วครับ ตั้งแต่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๑ แต่ลืมเผยแพร่
บังเอิญวันนี้ผมเปิดดูภาพเก่าๆ ไปเจอภาพเหล่านี้ที่ถ่ายเอาไว้ จึงได้นำมาเสนอให้ได้ชมกันครับ
ถึงเก็บไว้ที่ผม ผมก็ได้ดูอยู่คนเดียวเอง (เอามาเผยแพร่เผื่อว่าใครอยากทำแบบผมบ้าง)

 =  มาดูวงจรทางไฟฟ้าของรีพีทเตอร์สองทาง แบบ Back to Back กันก่อนครับ  =


= = = = = = = = = = = = = = = = วงจรที่จะใช้ในการควบคุมการทำงานของรีพีทเตอร์ Motorola P200 = = = = = = = = = = = = = = = =
สังเกตุสีที่ขั้วต่อสัญญาณ มีสีฟ้า สีเหลือง สีเขียว สีดำ และสีแดง ซึ่งสีตรงนี้จะไปตรงกับสีของสายไฟที่ต่อออกมาจากในตัวเครื่อง ดังภาพด้านล่างๆ

 

ภาพด้านล่าง เป็นการเปรียบเทียบการออกแบบวงจร (ภาพซ้ายมือ) กับ วงจรของจริง (ภาพขวามือ) ซึ่งผมใช้แผ่นปรินท์อเนกประสงค์มาประกอบวงจร
ตัวสีฟ้ายาวๆ คือตัวต้านทานปรับค่าได้ 1K แบบหมุนได้หลายๆ รอบ (trimpot ) เอาไว้ปรับแต่งเสียงให้หล่อ , ตัวดำ ๆ ตรงกลางแผ่นปรินท์ คือทรานซิสเตอร์ 2SC458
แต่ถ้าใครอยากได้เสียงหล่อกว่านี้ ก็ลองเปลี่ยนตัวเก็บประจุค่า 22nF เป็นค่าอื่นดูครับ

สองภาพบน เป็นภาพด้านหน้าของแผ่นปริ้นท์ (บน-ซ้าย เป็นการออกแบบวางอุปกรณ์ , บน-ขวา เป็นการวางอุปกรณ์จริงบนแผ่นปรินท์อเนกประสงค์)
สองภาพล่าง เป็นภาพด้านหลังของแผ่นปริ้นท์ (ล่าง-ซ้าย เป็นการออกแบบจุดบัดกรีอุปกรณ์ , ล่าง-ขวา เป็นการบัดกรีอุปกรณ์จริงบนแผ่นปรินท์อเนกประสงค์)

 

 

 = = ==  ทีนี้มาดูการแกะเครื่องวิทยุ Motorola P200 หรือ HT600    == = =

 เครื่อง Motorola รุ่น P200 กับรุ่น HT600  เป็นอันเดียวกันน่ะครับ วงจรข้างในเหมือนกันเลย  

ไหนๆ ก็จะทำทั้งที ลงทุนผ่าเครื่องไปเลยครับ เวลาแกะเครื่องก็จำไว้ให้ดีละว่าชิ้นไหนอยู่ตรงไหน เวลาประกอบกลับจะได้ไม่เหลือ

 

สายสีเหลืองที่เห็นในภาพ ผมต่อเป็นสัญญาณ +Rx ประมาณ +5 โวลต์ เพื่อเอาไปใช้ควบคุมการทำงานของวงจรรีพีทเตอร์ 

 

ให้มองกันหลาย ๆ มุมครับ

 

สายสีแดงนี้ต่อเป็นสัญญาณ +Ptt เอาไว้ควบคุมการส่งออกอากาศ (กดคีย์) สำหรับเครื่องที่จะทำเป็นตัวส่ง
คือผมทำสองเครื่อง และสองทางแบบ Back to Back นะครับ ดังนั้นแต่ละเครื่องจึงต่อสายทั้ง +Rx และ +Ptt

 

จัดการ พับ-ลอด-สอด-แหย่ สายสีแดงให้ดูเรียบร้อยและไม่แกะกะเวลาประกอบเครื่องกลับอย่างเดิม

 

ทั้งสายสีแดง (+Ptt) และสายสีเหลือง (+Rx) จัดการลอดไปตามแนวช่องว่างของแผ่นปรินท์

 

สายทั้งสองมาโผล่ตรงช่องว่างมุมล่างของเครื่อง อย่างในภาพ
จากนั้นประกอบเครื่องกลับดังเดิม...และทำการเอาตัวเครื่องใส่เข้าไปในเคสเสียก่อน แต่ยังไม่ต้องประกอบฝาหน้า
 ( ถึงตรงนี้ถ้าไม่เอาเครื่องใส่เข้าไปในเคสเสียก่อน พอเราต่อวงจรเสร็จสรรพ 
จะไม่สามารถเอาตัวเครื่องใส่กลับเข้าไปในตัวเคสได้อีก
เพราะโดนมาแล้วเลยบอกกันก่อน ) 

 

ตรงฝาหน้าของเครื่องจะมีลำโพง และแผ่นปริ้นท์อ่อนสำหรับติดตั้งไมค์โครโฟน

ผมได้ถอดสายสีขาว(เดิม) ออกจากแผ่นปรินท์ แล้วต่อเข้ากับสายสีฟ้า เอาไปเป็นสัญญาณ +Mic (ตรงท่อหดสีชมพู)
( ที่ต้องปลดสายออกจากแผ่นปริ้นท์เพื่อว่าเวลาระบบทำงาน สัญญาณจากไมค์โครโฟนในเครื่องจะได้ไม่ไปรบกวนสัญญาณการรับของรีพทเตอร์ )

ส่วนสายเทา(เดิม)ที่ต่ออยู่กับแผ่นปรินท์ ผมเอาสายสีดำต่อพ่วงเข้าไป อันนี้เอาเป็นกราวด์ของวงจร 
(ไม่ต้องปลดสายเส้นนี้ออกจากแผ่นปริ้นท์นะครับ เพราะถ้าปลดออกมา จะต้องใส่ท่อหดหุ้มไว้อีก)

 

อีกมุมเพื่อความชัดเจน

 

ต่อสายเสร็จแล้วก็ประกอบแผ่นปริ้นท์ของวงจรไมค์โครโฟนกลับเข้าที่เดิม

สายสีเขียว(ทางขวามือ) ผมเอาไปบัดกรีเข้ากับขั้วของลำโพง เพื่อเป็นสัญญาณ +SP
(ต่อขั้วใดขั้วหนึ่งของลำโพงเพียงขั้วเดียว เพราะวงจรขยายเสียงของ P200 เค้าใช้วงจรขยายแบบบริด์จ
ซึ่งทั้งสองขั้วจะเป็นสัญญาณที่กลับเฟสกันอยู่ จึงไม่มีขั้วกราวด์เหมือนกับยี่ห้ออื่นๆ เค้า)

 

ที่ฝาหน้าด้านใน มีสายที่ต่อออกมาสามเส้นคือ
     สายสีดำ = สายกราวด์ (GND)
     สายสีฟ้า = สัญญาณไมค์ (+Mic) ที่จะเข้าเครื่อง
     สายสีเขียว = สัญญาณลำโพง (+SP) ออกจากเครื่อง

ส่วนที่ต่อออกมาจากในตัวเครื่องอีกสองเส้นคือ
     สีเหลือง = สัญญาณการรับ (+Rx)
     สีแดง = สัญญาณการกดคีย์ส่ง (+Ptt)

จากนั้นจัดการเจาะฝาหน้าในตำแหน่งที่ดูดีที่สุด (ใต้ลำโพง) แล้วลอดสายทั้งห้าเส้นออกมา แล้วประกอบฝาหน้าเครื่องเข้าที่เดิม
ตรงนี้ถ้าใครจะต่อสายออกมายาวๆ ผมแนะนำให้เอาชีลด์หุ้มไว้ด้วย แล้วต่อชีลด์ลงกราวด์เอาไว้ เพื่อกันสัญญาณรบกวนครับ

แล้วจัดการบัดกรีสายเข้ากับคอนแน็คเตอร์ 5 ขา (connector 5 pin) เพื่อที่จะได้ต่อเข้ากับวงจรที่แผ่นปริ้นท์ต่อไป
การเรียงลำดับของสายไฟ ก็ให้ดูจากลายวงจรและแผ่นปริ้นท์ตามภาพข้างบนตรงขั้วต่อ ซึ่งผมใช้สีเหมือนกันกับสีของสายไฟ
(เคยถ่ายรูปเอาไว้แล้วแต่ยังหาไม่เจอ ถ้าเจอแล้วจะเอามาใส่ให้ดูรายละเอียดตรงส่วนนั้น)

ทางด้านซ้ายมือของกล่องโลหะ ผมทำวงจรเร็กกูเลตขนาด ๑๐ โวลต์ ๒ แอมแปร์ เพื่อจ่ายให้กับเครื่องวิทยุทั้งสองเครื่อง
(เครื่องของผมส่งออกอากาศเพียง 2 วัตต์เอง ทั้งสองเครื่องกินกระแสในเวลาเดียวกันประมาณ ๑.๔ แอมแปร์)
 ตรงนี้จำเป็นต้องทำนะครับ เพราะเครื่อง Motorola รุ่น P200 ใช้ไฟเลี้ยงแค่ ๑๐.๘ โวลต์เท่านั้น  
  ขืนให้ ๑๒ โวลต์อย่างยีห้ออื่นเค้า มีหวังควันขึ้นแน่  
จากนั้นก็ต่อไฟเลี้ยง ๑๐ โวลต์ให้เครื่อง P200 โดยวิธีการบัดกรีเข้าที่ขั้วถ่านซะเลย (ไหนๆ ก็หาแบตฯ แท้ๆ มาใส่ได้ยากเย็นอยู่แล้วนี่)

ทั้งสองภาพข้างบนนี้ผมต่อสายสัญญาณเหมือนกันทั้งสองเครื่องแล้วเอามาประกอบวงจรเป็นรีพีทเตอร์แบบสองทาง
แบบที่ฝรั่งเค้าเรียก Back to Back
(ทำเป็นรีพีทเตอร์แบบครัวเรือนไว้ใช้งานในบ้านพัก)


หมดแล้วครับ
ขอขอบคุณที่ทนอ่านจนจบ