อะไรคือ Echolink
โดย HS9DMC  
Last Update ศุกร์, 05 ตุลาคม 2555 21:27:40

@ ภาพทุกภาพ ข้อความทุกข้อความในเวบไซด์นี้มอบให้เป็น ลิขสิทธิ์สาธารณะ (GPL) @

 
      ปัจจุบันการใช้งานอินเตอร์เน็ตในประทศไทยได้พัฒนาอย่างยิ่งยวด ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับต่างภูมิภาค หรือกับต่างประเทศ ได้อย่างรวดเร็วมาก การติดต่อสื่อสารกันบนระบบอินเตอร์เน็ตนั้นมีหลายรูปแบบ เช่นการเปิดเว็บไซด์มาดูข่าวสาร, การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail), การพิมพ์ข้อความพูดคุยกัน (ICQ , QQ , Chat , MSN) หรือแม้แต่การสนทนาหรือประชุมกันบนระบบอินเตอร์เน็ต (Conferrent) แต่การสื่อสารในลักษณะที่ยกตัวอย่างมานี้จะต้องนั่งอยู่ที่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้นซึ่งไม่สะดวกมากนัก 
     

มีนักวิทยุสมัครเล่นชาวต่างประเทศได้พัฒนาโปรแกรมที่ใช้ในการสื่อสารกันบนอินเตอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยข้อความ (Text) หรือเสียงพูด (Voice) ซึ่งก็มีด้วยกันหลายโปรแกรมขึ้นอยู่กับกลุ่มที่เค้าจะพัฒนาขึ้นมา...  ในจำนวนหลาย ๆ กลุ่มนี้ มีนักวิทยุสมัครเล่นอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำโดยคุณ Jonathan Taylor (
K1RFD) CT USA ได้พัฒนาโปรแกรมที่ชื่อว่า Echolink ขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้นักวิทยุสมัครเล่นได้ใช้พูดคุยกันโดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ตกัน โดยมีข้อกำหนดว่าผู้ที่จะใช้โปรแกรมนี้ได้จะต้องเป็นนักวิทยุสมัครเล่นที่ทางกลุ่มพัฒนาฯ เค้ายอมรับเท่านั้น และโปรแกรมนี้นักวิทยุสมัครเล่นสามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งได้ฟรี ที่นี่ 

อะไรคือ Echolink

       HS9FK (จ.ปัตตานี)  นักวิทยุสมัครเล่นอีกท่านหนึ่งที่เล่น Echolink มาตั้งแต่เริ่มมีระบบนี้ในประเทศไทย   ได้ให้ความหมายของ Echolink ได้ค่อนข้างชัดเจน ว่า...
     "Echolink  เป็นซอฟแวร์สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาต ให้ใช้ในการสื่อสารติดต่อจากสถานีวิทยุสมัครเล่นสถานีหนึ่ง ถึงสถานีวิทยุสมัครเล่นอีกสถานีหนึ่ง หรือสถานีนักวิทยุสมัครเล่นอื่นที่ได้รับอนุญาตใช้วิทยุสื่อสารผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยใช้ เสียง หรือพิมพ์โต้ตอบกัน   โปรแกรมนี้ (Echolink) ยังช่วยให้การติดต่อระหว่างสถานีนักวิทยุสมัครเล่นด้วยกันหรือจากสถานีที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กับสถานีนักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้วิทยุสื่อสาร ทำให้ความสามารถในการติดต่อสื่อสารของนักวิทยุสมัครเล่นได้ขยายวงกว้างขึ้นทั่วโลก   มีสถานีนักวิทยุสมัครเล่นที่ได้ลงทะเบียนกับ Echolink แล้วมากกว่า 210,000 สถานี ใน 150 ประเทศทั่วโลก. (10 กย.47)"

@ - - - - - - - - - ขอขอบคุณ HS9FK ครับ - - - - - - - - - - @

      Echolink คือชื่อของรูปแบบการติดต่อสื่อสารของนักวิทยุสมัครเล่นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่อาศัยความสามารถของระบบอินเตอร์เน็ตและเครื่องคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยเพิ่มระยะทางในการติดต่อ  ที่ภาษาอังกฤษเค้าเรียกว่า Voice Over Internet Protocal หรือ VOIP งัยครับ   เรามาดู Echolink แบบง่าย ๆ คือ ถ้านายแดงติดตั้งโปรแกรม Echolink ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านแล้วต่ออินเตอร์เน็ตพร้อมทั้งเปิดโปรแกรม Echolink ขึ้นมา นายแดงก็จะเห็นรายชื่อสมาชิกทั้งหมดที่เปิดโปรแกรมนี้  ถ้าขณะนั้นนายดำเค้าก็ทำแบบเดียวกับนายแดง  นายดำก็จะเห็นรายชื่อของสมาชิกทั้งหมดที่เปิดโปรแกรม Echolink รวมทั้งเห็นชื่อของนายแดงด้วย  ทีนี้ถ้านายแดงสั่งให้โปรแกรม Echolink ทำการคอนเน็คกับนายดำ นายแดงก็จะสามารถพูดคุยผ่านทางไมค์โครโฟนกับนายดำได้ทันทีโดยที่ทั่งสองอาจอยู่ห่างไกลกันแค่ไหนก็ได้ (ทั้งนี้เพราะระบบอินเตอร์เน็ตจะทำให้ทั้งสองคนคุยกันได้ เหมือนกันเราใช้ MSN หรือ Yahoo คุยผ่านไมค์นั้นแหล่ะ)... ซึ่งลักษณะการกระทำของนายดำและนายแดง จะเป็นการใช้งาน Echolink พูดคุยกันที่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น โดยเราจะเรียกการใช้งานแบบนี้ว่าแบบ User หรือสถานี User

      @ ต่อไปถ้านายแดงเอาเสียงที่ออกมาจากลำโพงเครื่องคอมพิวเตอร์ ต่อเข้าไปยังไมค์ของเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และต่อเสียงที่ออกจากลำโพงเครื่องรับ-ส่งวิทยุเข้ากับช่องไมค์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ (เราจะเรียกเครื่องรับ-ส่งวิทยุที่ต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์นี้ว่าเครื่องลิงค์) ทีนี้ก็จะทำให้นายแดงสามารถคุยกับนายดำโดยผ่านเครื่องวิทยุสื่อสารอีกเครื่องหนึ่งที่ความถี่ตรงกันกับเครื่องลิ้งค์นี้ได้ และหากว่าใครคนหนึ่งสแกนความถี่ผ่านมาเจอความถี่ออกอากาศของเครื่องลิงค์ที่นายแดงเปิดเอาไว้ เค้าคนนั้นก็จะสามารถใช้วิทยุสื่อสารพูดคุยกบนายดำได้เช่นกัน โดยเค้าคนนั้นไม่ต้องรู้เรื่อง Echolink เลยก็ได้ ทั้งนี้เพราะระบบที่นายแดงทำเอาไว้ จะนำพาเสียงของเค้าคนนั้นผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังนายดำโดยอัตโนมัติ การกระทำของนายแดงขณะนี้เค้าเรียกว่าสถานี Link  (แต่นายดำยังเป็นสถานี User อยู่น่ะครับ)

แล้วระบบที่เค้าใช้กันอยู่ทุกวันนี้ล่ะ
      ง่าย ๆ ก็คือถ้าเราต่อเครื่องวิทยุเครื่อง A เข้ากับคอมพิวเตอร์ที่ต่ออยู่กับอินเตอร์เน็ต (เรียกว่าสถานี Echolink A) แล้วอีกสถานที่หนึ่งเค้าก็มีวิทยุเครื่อง B ต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์และต่ออยู่กับอินเตอร์เน็ตด้วยเช่นกัน (เรียกว่าสถานี Echolink B) จากนั้นเราก็ให้คอมพิวเตอร์ทั้งสองทำการ connect เข้าด้วยกันโดยโปรแกรม Echolink  ผลที่ตามมาคือสัญญาณที่รับได้จากวิทยุเครื่อง A ก็จะถูกส่งเข้าระบบทั้งหมดนี้ผ่านไปออกอากาศที่วิทยุเครื่อง B ได้  และในทางกลับกันสัญญาณที่รับได้จากวิทยุเครื่อง B ก็จะถูกส่งผ่านระบบไปออกอากาศที่วิทยุเครื่อง A ได้เช่นกัน   เห็นมั๊ยล่ะครับว่าไม่ว่าวิทยุเครื่อง A และ B จะอยู่ห่างกันเพียงใดเราก็จะสามารถพูดคุยกันได้

แล้วคนที่ไม่มีทั้งอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ทำงัยถึงจะได้คุย Echolink กะเค้าบ้าง
      ถ้าท่านที่มีเพียงวิทยุสื่อสาร (จะเป็นชนิดมือถือหรือโมบายก็ได้) โดยไม่มีอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ แต่บังเอิญท่านอยู่ใกล้ ๆ กับสถานี Echolink A และเปิดอยู่ในความถี่เดียวกันกับวิทยุเครื่อง A (ไม่จำเป็นต้องใส่ Duplex) ท่านก็สามารถกดคีย์วิทยุพูดออกไป โดยเครื่องวิทยุ A จะรับสัญญาณเสียงของท่านแล้วส่งเข้าไปยังคอมพิวเตอร์ที่สถานี Echolink A และส่งต่อออกไปในอินเตอร์เน็ต   เสียงของท่านในอินเตอร์เน็ตจะถูกส่งไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สถานี Echolink B และถูกส่งต่อไปยังวิทยุเครื่อง B เพื่อออกอากาศในช่องความถี่ที่วิทยุเครื่อง B เปิดอยู่ (ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความถี่เดียวกันกับวิทยุเครื่อง A ) ดังนั้นหากท่านกดคีย์วิทยุแล้วส่งเสียงเรียก CQ ออกไป เสียงของท่านก็จะถูกส่งไปออกอากาศที่สถานี Echolink B ด้วย และหากขณะนั้นมีสมาชิกท่านใดที่ได้ยินเสียงท่านจากความถี่ที่วิทยุเครื่อง B  เค้าก็จะสามารถตอบท่านกลับมาได้แบบเดียวกัน

     ทีนี้ท่านไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างคอมพิวเตอร์และต่ออินเตอร์เน็ต ท่านก็สามารถคุยผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้กะเค้าเหมือนกัน... (แต่ทั้งนี้ต้องด้วยความอนุเคราะห์จากเพื่อนสมาชิกคนใดคนหนึ่งที่เค้ามีสถานี Echolink น่ะครับ)

รูปแบบของสถานี Echolink

      เราสามารถกำหนดในโปรแกรม Echolink ได้ว่าจะให้ทำงานในรูปแบบใด ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ แบบ User และแบบ Sysop  

     1. สถานี Echolink แบบ User นั้นการใช้งานสถานี จะต้องใช้งานที่หน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น เวลาจะพูดออกไปก็ให้กดแป้น space bar แทนคีย์ Ptt ของเครื่องวิทยุ  เวลาพูดก็พูดใส่ไมค์ของเครื่องคอมพิวเตอร์แทนไมค์เครื่องวิทยุ  และฟังเสียงของเพื่อนสมาชิกทางลำโพงที่ต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์แทนลำโพงของเครื่องวิทยุ  ซึ่งดู ๆ แล้วมันไม่น่าจะเป็นสถานีวิทยุสื่อสารเพราะไม่มีส่วนของเครื่องวิทยุสื่อสารมาเกี่ยวข้องเลย มีเพียงแต่นามเรียกขาน ของเราทีระบุอยู่ในโปรแกรมเท่านั้นเองที่บ่งบอกถึงการเป็นวิทยุสมัครเล่น (น่าจะเรียกเป็นสถานีคอมพิวเตอร์เสียด้วยซ้ำ)

     สถานี Echolink แบบ User นี้จะต้องมีอุปกรณ์พื้นฐานดังนี้ 
(1) เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งระบบปฏิบัติการตั้งแต่ Windows 95 ขึ้นไป (win95 , win98 , win-me , win-xp)
(2) อินเตอร์เน็ตที่พร้อมจะใช้งาน ซึ่งอาจเป็นชนิดที่ใช้สายโทรศัพท์หมุนโมเด็ม หรือแบบ ADSL หรือแบบ Fiber Optic หรือแบบ Lead Line หรืออาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งที่สามารถทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ (ตลอดเวลาการใช้งาน Echolink)
(3) โปรแกรม Echolink เวอร์ชั่นใหม่ ๆ หน่อยก็ดี โดยท่านสามารถไปดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.echolink.org 
(4) ไมโครโฟนที่ใช้สำหรับคอมพิวเตอร์ และมีลำโพงที่สามารถฟังเสียงได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์

การใช้งานแบบ User นี้ท่านสามารถใช้งานพูดคุยกับสถานี Echolink ที่เป็น User ด้วยกันหรือที่เป็น สถานีวิทยุอื่นทางความถี่ก็ได้ (กรณีคุยผ่านสถานี Link)  แต่ตัวท่านเองจะต้องนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น

      2. สถานี Echolink แบบ Sysop  สถานี Echolink แบบนี้เราสามารถต่อเสียงจากเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ากับเครื่องวิทยุสื่อสาร เพื่อออกอากาศบริการเพื่อน ๆ สมาชิกนักวิทยุสมัครเล่นที่เค้ามีเพียงเครื่องวิทยุสื่อสาร ให้สามารถพูดคุยผ่านโปรแกรม Echolink ได้ ฉะนั้นถ้ามีสถานี Echolink แบบ Sysop นี้ออกอากาศอยู่ที่เชียงใหม่หนึ่งสถานี และมีที่สงขลาอีกหนึ่งสถานี ก็จะทำให้สมาชิกนักวิทยุสมัครเล่นสามารถคุยกันจากสงขลาถึงเชียงใหม่ได้ด้วยสายอากาศยาง ทีนี้ลองนึกดูว่า ถ้ามีสถานี Echolink แบบ Sysop อยู่ทุก ๆ จังหวัด ก็จะทำให้นักวิทยุสมัครเล่นทั่วประเทศคุยกันได้ด้วยสายอากาศยาง ใช่ไหมล่ะครับ

       สถานี Echolink แบบ Sysop นี้จะต้องมีอุปกรณ์ที่เพิ่มเติมจากสถานี Echolink แบบ User คือ
(5) เครื่องวิทยุสื่อสารที่ใช้สำหรับทำเครื่องลิ้งค์ 1 เครื่อง (และขณะใช้งานอยู่ท่านจะไม่สามารถนำวิทยุเครื่องนี้มาใช้พูดคุยได้)
(6) ชุดอินเตอร์เฟส ที่ใช้ต่อระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ากับเครื่องวิทยุสื่อสาร ซึ่งท่านอาจทำขึ้นมาเองหรือไปขอช่วยเพื่อน ๆ ที่เค้าพอจะมีความสามารถทางด้านอิเล็คทรอนิคส์ช่วยทำให้ก็ได้ ตามวงจรที่มีอยู่ในเวบไซด์นี้แล้ว
(7) ระบบสายอากาศนอกอาคาร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าของสถานี Echolink ละครับว่าอยากจะให้ติดต่อได้ไกลเพียงใด และจะใช้สายอากาศแบบไหน สายนำสัญญาณอะไร ?

       สถานี Echolink แบบ Sysop ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ สถานี Sysop แบบ Link กับ สถานี Sysop แบบ Repeater ซึ่งทั้งสองชนิดนี้จะใช้อุปกรณ์เหมือนกัน แต่จะมีความต่างกันที่
>> การตั้งความถี่ของเครื่องวิทยุสื่อสารว่าเป็นแบบ Simplex หรือ Duplex 
>> และสถานี Sysop แบบ Link จะอาศัยระบบสายอากาศของสถานี Echolink เองในการเพิ่มระยะทางของการติดต่อ ส่วนสถานี Sysop แบบ Repeater จะอาศัยสถานี Repeater ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นตัวช่วยเพิ่มระยะทางในการติดต่อสื่อสารทางความถี่ (ที่เราเรียกว่าทาง RF) อีกทอดหนึ่ง


ระยะทางในการรับส่งทาง RF ของสถานี Sysop แบบ Link 
จะอาศัยประสิทธิภาพของระบบสายอากาศของสถานี Echolink เอง
.



ระยะทางในการรับส่งทาง RF ของสถานี Sysop แบบ Repeater จะอาศัยประสิทธิภาพของระบบสายอากาศของ
สถานีรีพีทเตอร์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ช่วยเพิ่มระยะในการติดต่อทาง RF  ดังนั้นที่สถานี Echolink ไม่จำเป็นจะต้อง
มีระบบสายอากาศที่ใหญ่โตก็ได้  ขอเพียงแค่ส่งออกอากาศไปให้ถึงสถานีรีพีทเตอร์ก็พอแล้ว

      สถานี Sysop แบบ Repeater นี้เค้านิยมกันในต่างประเทศ แต่สำหรับในประเทศไทยแล้วจะนิยมใช้งานแบบ Link มากกว่า ดังนั้นเลยนิยมเรียกสถานี Echolink แบบ Sysop ชนิด Link นี้ว่า สถานีลิ้งค์ กันมาตลอด

การทำงานของโปรแกรม Echolink

         เมื่ออุปกรณ์พื้นฐานในการเล่น Echolink (เบื้องต้น) พร้อม  เราก็ทำการติดตั้งโปรแกรม Echolink ลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราและทำการเซ็ตโปรแกรมให้ทำงานแบบ User โดยดูรายละเอียดได้ในเวบไซด์นี้ ในหัวข้อ การติดตั้งและใช้งานโปรแกรมแบบ User  หลังจากนั้นเมื่อเปิดโปรแกรมขึ้นมาให้พร้อมใช้งาน ซึ่ง เราจะเรียกว่าสถานี Echolink แบบ User  ต่อไปเราก็มาทำความเข้าใจกันต่อเลยว่า Echolink มีการทำงานอย่างไร

      จากภาพที่ 1 ด้านบนนี้ มีสถานี Echolink A และ สถานี Echolink B ซึ่งทั้งสองสถานีจะเป็นแบบ User หรือจะเป็นแบบ Link ก็ได้ แต่ในภาพผมวาดให้ง่ายแก่การดูครับ... ในกรณีที่มีการติดต่อกันอยู่เพียง 2 สถานี ในหน้าจอของแต่ล่ะสถานีจะแจ้งว่ามีอยู่ 1 connect  ดังนั้นเมื่อทางด้านสถานี Echolink A กดคีย์แล้วพูดออกไป คอมพิวเตอร์ของสถานี A จะทำการส่งเสียงนั้นไปในอินเตอร์เน็ตแล้วเข้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สถานี Echolink B (เส้นสีเขียวในภาพ) ซึ่งขณะนี้ที่สถานี Echolink B จะฟังได้อย่างเดียว ไม่สามารถกดคีย์ตอบโต้ได้  แต่เมื่อเสียงจากสถานี Echolink A หยุดลง ทางสถานี Echolink B ก็จะสามารถกดคีย์แล้วพูดตอบออกไปได้ โดยเสียงจากสถานี Echolink B จะถูกส่งออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สถานี B แล้วส่งออกไปในอินเตอร์เน็ตไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สถานี A ให้ได้ยินกัน (เส้นสีน้ำเงินในภาพ)  จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าทั้ง 2 สถานีจะสามารถพูดคุยติดต่อสื่อสารทางเสียงกันได้ แต่จะต้องผลัดกันพูดและฟัง สลับกันไปเหมือนกับการพูดคุยผ่านวิทยุสื่อสารทุกประการ  นอกจากนี้ในโปรแกรม Echolink ยังมีส่วนของหน้าจอ ที่จะสามารถพิมท์ข้อความสื่อสารกันได้อีกด้วย ซึ่งบางครั้งเราจำเป็นที่จะต้องส่งข้อความเป็นตัวอักษรเพื่อความถูกต้อง เช่นส่ง อีเมล์แอดแดรส หรือส่งที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น

       ในกรณีที่มีสถานี Echolink มากกว่า 2 สถานี ทำการ connect เข้าด้วยกัน ซึ่งอาจมีหลาย ๆ วิธี เช่น สถานี Echolink A connect สถานี Echolink B , สถานี Echolink B connect สถานี Echolink C , สถานี Echolink C connect สถานี Echolink D ไปเรื่อย ๆ จนครบทุก ๆ สถานี  การ connect แบบนี้ จะทำให้ได้ยินเสียงของผู้พูดครบทุก ๆ สถานี แต่การ connect แบบนี้จะมีข้อเสียตรงที่ว่า หากสถานีใดสถานีหนึ่งมีปัญหาด้านอินเตอร์เน็ตขึ้นมากลางคัน ก็จะทำให้สถานีที่ connect อยู่ด้วย หลุดจากการ connect ไปเลย   ทีนี้ลองมาดูการ connect แบบที่ผมจะแนะนำน่ะครับ นั้นคือแบบมีสถานี Echolink ใดสถานีหนึ่ง คอยเป็นสถานีกลางในการรับ connect จากเพื่อน ๆ Echolink ด้วยกัน (แสดงในภาพที่ 2 ซึ่งจะมีสถานี C เป็นสถานีกลาง)

      ในภาพที่ 2 จะเห็นว่าทั้งสถานี A , B และ D ไป connect อยู่กับสถานี C ดังนั้นที่หน้าจอของสถานี C จะแจ้งว่ามี 3 connect และจะมีรายชื่อของทั้ง 3 สถานีปรากฏอยู่  ส่วนที่หน้าจอของสถานี A , B และ D จะแจ้งว่ามีอยู่ 1 connect แต่มีรายชื่ออยู่ 3 สถานี (ไม่รวมสถานีตัวเอง)  

      จากภาพที่ 3 สมมุติว่าสถานี A เป็นผู้พูด  เสียงจากสถานี A จะไม่ถูกส่งผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังสถานีต่าง ๆ โดยตรง แต่เสียงจากสถานี A จะถูกส่งผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังสถานีกลางก่อน (สถานี C) แล้วจากนั้นสถานีกลางก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ส่งเสียงของสถานี A ผ่านอินเตอร์เน็ตออกไปยังสถานีอื่น ๆ ที่เหลืออีกทอดหนึ่ง เป็นผลให้สถานีอื่น ๆ ที่เหลือได้ยินเสียงของสถานี A พร้อม ๆ กัน... ในทางกลับกัน ถ้าสถานีใดสถานีหนึ่ง (ที่ connect เข้าด้วยกัน) เป็นผู้พูด เสียงของสถานีนั้นก็จะถูกส่งผ่านอินเตอร์เน็ตไปยังสถานีกลางก่อน แล้วสถานีกลางจะทำหน้าที่ส่งเสียงนั้นต่อไปยังสถานีอื่น ๆ ที่เหลือ ให้ได้ยินเสียงกันทั่วหน้า...

      ซึ่งถ้าพิจารณาดูจะเห็นว่าข้อมูลที่วิ่งเข้าและวิ่งออกในอินเตอร์เน็ตที่สถานีกลางในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จะค่อนข้างเยอะกว่าสถานีอื่น ๆ  ดังนั้นสถานีที่จะตั้งตนเป็นสถานีกลางกลางนี้ได้ จะต้องมีขนาด Bandwidth  ของอินเตอร์เน็ตที่กว้างพอที่จะส่งข้อมูลเสียงเข้า-ออกได้ทัน ไม่อย่างนั้นแล้วจะทำให้เกิดการสะดุดหรือกระตุกของเสียงขึ้นได้

หลักการพูดคุยโดยผ่านสถานี Echolink

      จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เราจะเห็นว่าเสียงที่พูดคุยผ่านโปรแกรม Echolink นั้นจะต้องมีการส่งผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วย ซึ่งก็จะมีผลให้เสียงที่เดินทางในระบบอินเตอร์เน็ตนั้นล่าช้ากว่าในอากาศเล็กน้อยประมาณ 2-5 วินาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของอินเตอร์เน็ตทั้งของสถานีเราเอง และของคู่สถานีที่เราติดต่อด้วย ดังนั้นเมื่อเรากำลังสนทนาอยู่ในความถี่ที่ถูกลิ้งค์เป็น Echolink หลังจากเราพูดจบประโยคไปแล้วหรือปล่อยคีย์ไปแล้ว ให้เรารอสัก 2-5 วินาที หากรอแล้วไม่มีเสียงตอบกลับมาค่อยเรียกขานใหม่อีกครั้ง  ซึ่งจริง ๆ แล้วทางด้านผู้รับนั้นเมื่อเค้าได้ยินเสียงเราปล่อยคีย์ เขาก็ตอบมาทันทีเหมือนกัน แต่ระบบอินเตอร์เน็ตมันทำให้เกิดการหน่วงเวลา เลยทำให้เราได้ยินเสียงจากคู่สถานีตอบเรามาช้าซักหน่อย  ซึ่งคิด ๆ ไปแล้วมันก็คุ้มค่าในการรอ 2-5 วินาทีล่ะครับ ที่ว่าคุ้มก็น่าจะคุ้มกว่าการที่เราจะลงทุนตั้งทาวเวอร์ใหม่และติดตั้งสายอากาศสูง ๆ กำลังขยายมาก ๆ สักชุด เพื่อที่จะติดต่อได้ไกล ๆ   เราหันมาใช้ Echolink กันดีกว่า คิด ๆ แล้วจ่ายค่าชั่วโมงอินเตอร์เน็ตทั้งปี ยังน่าจะคุ้มกว่าตั้งทาวเวอร์และระบบสายอากาศใหม่ซักต้นมั๊ง...!!!!!!

     และการพูดคุยผ่านโปรแกรม Echolink หรือผ่านความถี่ที่ถูกลิ้งค์อยู่กับ Echolink (ทั้งที่เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นความถี่ Echolink หรือบังเอิญ scan มาเจอ) ให้พึงระลึกเอาไว้ว่าเราอาจไม่ได้พูดคุยอยู่กับสมาชิกสถานีใกล้ ๆ แต่อาจพูดคุยอยู่กับสถานีไกล ๆ จากสงขลาถึงกรุงเทพฯ หรือจาก ยะลาถึงโคราช ก็เป็นได้  ดังนั้น
ข้อ 1). การคอนแท็คเข้าร่วมสนทนา จะต้องแจ้งนามเรียกขานของตนเองเสมอ ....คอนแท็คครับ จาก HS9DMC สงขลา...
ข้อ 2). ในการสนทนา ก่อนจะปล่อยคีย์หลังหมดคำพูดในแต่ล่ะครั้ง ควรจะแจ้งนามเรียกขานของคู่สถานีพร้อมสถานที่ และตามด้วยนามเรียกขานของเราเองพร้อมสถานที่ เพื่อความถูกต้องของการสื่อสาร และเพื่อให้ผู้ที่รับฟังอยู่จะได้ทราบด้วยว่าใครกำลังคุยอยู่กับใครที่ไหน  ก็ไหน ๆ มันไม่มีความลับในความถี่กันแล้วใช่ไหมล่ะครับ...!!!!!!   ......HS4FFD น้ำพอง จ.ขอนแก่น จาก HS9DMC เมือง จ.สงขลา....

โดยรวมแล้ว การปฏิบัติยังเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมไปรษณีย์โทรเลขนั้นเอง แต่ในการใช้งานในช่องความถี่ปกติของเรานั้นเรามักจะไม่ขานนามเรียกขานของตนเอง ไม่แจ้งสถานที่ เพราะเราคุยกันอยู่ทุกวัน คุยกันในท้องถิ่นใกล้เคียง แค่เสียงกดคีย์เราก็จำกันได้แล้วว่าเป็นใคร... แต่สำหรับใน Echolink แล้ว สัญญาณที่เราส่งออกไปนั้น ด้วยระบบอินเตอร์เน็ตจะนำพาเอาเสียงเราไปได้ไกล ๆ ฉะนั้นคนอื่น ๆ ที่เราไม่มักคุ้น เค้าจะไม่ทราบได้ว่าเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน  จึงขอความกรุณาได้ปฏิบัติตาม 2 ข้อข้างบนด้วยนะครับ...

ความถี่ใช้งาน Echolink

      กรมไปรษณีย์โทรเลขได้อนุญาตให้นักวิทยุสมัครเล่นใช้ความถี่ในการลิ้งค์เสียงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ (ผ่านระบบ VoIP) ไปออกอากาศด้วยเครื่องวิทยุสื่อสาร ที่ช่วงความถี่ 145.5000 MHz ถึง 145.6125 MHz  และช่วง 145.7250 MHz ถึง 145.8000 MHz ซึ่งถ้าดูตามแบนด์แปลนของกรมไปรษณีย์โทรเลข ในข้อ 1.4 จะเป็นช่องความถี่ที่กำหนดให้ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารประเภทอื่น  นั่นเอง

สรุปความถี่ที่ใช้ลิ้งค์ Echolink ได้
145.5125  145.5375  145.5500  145.5625  145.5750  145.5875  145.6000  145.6125
145.7250
  145.7375  145.7500  145.7625  145.7750  145.7875
ทั้งนี้ขอได้เว้นความถี่  145.5250  ซึ่งมีการใช้งานในระบบ APRS (เริ่มใช้งานวันที่ 1 พ.ค.2551)   
      ขอได้เว้นความถี่  145.5000  ซึ่งมีการใช้งานในระบบ Packet (
เริ่มใช้งานวันที่ 1 พ.ค.2551)  
ทั้งนี้
และขอได้เว้นความถี่  145.8000  ซึ่งใช้ในกิจการดาวเทียมสำหรับนักวิทยุสมัครเล่น (ใช้ในการรับ)        
ซึ่งจะมีผลอย่างมากหากท่านนำไปทำความถี่ลิ้งค

   ทั้งนี้หากใช้ช่องความถี่ใดแล้วเกิดการรบกวนกับสถานีอื่นที่ใช้งานอยู่ก่อนหน้านี้  
  จะต้องระงับการใช้ความถี่ดังกล่าวทันที   

 

อ้างถึง http://www.100watts.com/smf/index.php?topic=73382.msg386332#msg386332    ref 

ความถี่ 145.500MHz - 145.5375MHz ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารประเภทอื่น ยกเว้นสถานี Internet Voice gateway (Echolink)
ความถี่ 145.550MHz - 145.6125MHz ใช้สำหรับสถานี Internet Voice gateway (Echolink)
ความถี่ 145.725MHz - 145.7875MHz ใช้สำหรับสถานี Internet Voice gateway (Echolink)
ความถี่ 145.800MHz ใช้สำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่นผ่านดาวเทียม และห้ามสถานี Internet Voice gateway (Echolink)

หมายเหตุ : ความถี่ 145.7875MHz อาจรบกวนการใช้งานการติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ
ควรระมัดระวังและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

โดยจะเริ่มดำเนินการตามแผนการใช้ความถี่นี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2554

24 มิถุนายน 2547 ฝ่ายกิจการวิทยุสมัครเล่น กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้อนุญาตให้นักวิทยุสมัครเล่นทดลองออกอากาศ Echolink ได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตต่อกรมไปรษณีย์โทรเลขอีกต่อไป

มาดูรูปแบบเต็ม ๆ ของการสื่อสาร ด้วยโปรแกรม Echolink กันน่ะครับ

 

ภาพตัวอย่างสถานี Echolink แบบ Sysop ชนิด Link สถานีเล็ก ๆ สถานีหนึ่ง


ใช้คอมพิวเตอร์ แบบ Desknote , วิทยุ icom แบบ Mobile


สายอากาศแบบรอบตัว บนตึก 5 ชั้น

  

ปล. มีอะไรดี ๆ จะแนะเพิ่มเติม กรุณา Email ไปที่  HS9DMC ได้น่ะครับ